สวนรักษ์มะนาว

ชาวสวน แนะนำ

ต้นตำรับ “มะนาวแป้นวโรชา” สุดยอดปราชญ์ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ปลูกมะนาวออกลูกต้นละหนึ่งพันถึงสามพันลูก คนคิดค้นเผยจบ ม.3 ลองผิดลองถูกจนประสบความสำเร็จ

ทำมะนาวนอกฤดู รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี (กำแพงแสน)

เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดูไม่ใช่เรื่องที่ง่าย  ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินกว่าที่จะทำได้ปรมาจารย์มะนาว เผยเทคนิคการทำมะนาวนอกฤดูไม่ง่าย แต่ไม่ยากเกิน เน้นต้องเข้าใจวงจรการออกดอก-ติดผลของมะนาวอย่างแท้จริง และใช้ระบบการจัดการเข้ามาช่วยอย่างถูกต้อง 

ทำมะนาวนอกฤดู รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี 

     รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม     

แนะใช้สารพาโคลบิวทาโซลฉีดพ่นใบยับยั้งการเจริญของกิ่งใบไม่ให้แตกยอดซ้ำซ้อน ปลูกแบบลูกฟูก คุมน้ำได้ดี และหากเป็นดินทรายจะดี การควบคุมการออกดอกได้สั้นลง แม่นยำกว่า

รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม ได้แนะเทคนิคทำมะนาวนอกฤดู เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติและปรับใช้ในสวนของตนเอง ดังนี้

การทำมะนาวนอกฤดูมีข้อจำกัดอยู่ 3 เรื่อง คือ
  • อายุของกิ่งหรือยอด ที่จะออกดอกได้ ต้องมีอายุไม้น้อยกว่า 3 เดือนขึ้นไป ถึงจะมีโอกาสเป็นดอก ถ้าอายุไม่ถึง ก็ไม่มีโอกาสได้ดอก ถ้าเราจะเก็บลูก ในเดือนมีนาคม เมษายน ดอกมะนาว จะต้องบานในช่วงตุลาคม พฤศจิกายน และต้นมะนาว จะต้องผลิยอด ในเดือน กรกฏาคม สิงหาคม เพื่อให้ยอดแก่ทัน ในเดือนตุลาคม พฤศจิกายน
  • ปัญหาในต้นมะนาว นั้นมักจะมีการผลิยอดอ่อนซ้ำซ้อนตามมาเรื่อยๆ เช่น เมื่อยอดอ่อนผลิยอดมาแล้ว 50 วัน จะมียอดอ่อนรุ่นต่อไปตามมา ฉะนั้น ยอดมะนาวจะไม่มีโอกาสถึง 90 วันพอดี เมื่อเราเตรียมต้นไว้แล้ว พอ 50  วันยอดอ่อนก็ออกมาแล้ว ซึ่งมักเจอปัญหานี้ในช่วงหน้าฝน
  • มะนาวจะออกดอกได้ กิ่งมะนาวนั้นต้องไม่มีลูกติดอยู่ ฉะนั้น ในช่วงเดือน ตุลาคม พฤศจิกายน ที่ต้องการจะให้มะนาวออกดอก ปรากฏว่าลูกมะนาวเต็มต้น เพราะในช่วงนั้นจะเป็นมะนาวรุ่นที่สองในต้นเดียวกัน จึงไม่มีกิ่งว่างให้มะนาวออกดอก แต่ขณะเดียวกัน ราคามะนาวจะเริ่มขยับตัวขึ้นในเดือนพฤศจิกา ธันวาคมและมกราคม โดยที่มะนาวรุ่นที่ 2 จะหมดในเดือนกุมภาพันธ์  ฉะนั้น ถ้าจะทำมะนาวนอกฤดู เกษตรกรจะยอมตัวช่วงของมะนาวที่จะออกในรุ่นที่ 2 ในช่วงเดือนตุลาคม พฤศจิกายน ที่จะทยอยออกทิ้งหรือไม่ ตรงนี้เป็นจุดที่เกษตรกรเอง ไม่แน่ใจว่าทำไปแล้วจะคุ้มค่ากับการหันมาทำมะนาวนอกฤดู และได้ราคาอย่างที่ต้องการหรือไม่

การทำมะนาว แนะนำให้ทำในต้นใหม่หรือต้นที่ติดผลน้อย แต่หากจะทำจริงๆ ต้องเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฏาคม สิงหาคม ก่อนที่ต้นมะนาวจะขึ้นรอบสอง โดยการตัดปลายกิ่งและตัดยอดเพื่อกระตุ้นให้ต้นมะนาวออกยอดขึ้นมาพร้อมกันทั้งต้นภายใน 7 – 10 วัน ซึ่งแต่ละยอดมีอายุเท่ากัน และใบจะแก่เมื่อครบ 90 วัน ในเวลานั้นเราก็ไล่ย้อนเวลากลับมา 3 เดือนนับแต่เวลาที่ต้องการ

ฉะนั้น ถ้าเราตัดไปแล้วในเดือนสิงหาคม ยอดจะแก่ทันเดือนตุลาคม ถ้าเรามีจำนวนต้นเยอะ เราก็แบ่งมาเป็นแปลงๆ โดยทิ้งห่างกันทุก 15 วัน เพื่อให้ครอบคลุมช่วงระยะเวลาของหน้าแล้งได้เต็มๆ เป็นการใช้การจัดการเรื่องเวลาเข้ามาช่วย เพื่อให้ครอบคลุมได้เต็มช่วงเวลาที่มะนาวแพงได้หมด และช่วยลดความเสี่ยงเรื่องราคาอีกทางด้วย

ส่วนของยอดที่แตกออกมาซ้ำซ้อนในครั้งที่สอง เราจะใช้สารพาโคลบิวทราโซล เข้าไปยับยั้งการสังเคราะห์ GA  ในธรรมชาติของต้นพืช เพื่อยับยั้งการเจริญของกิ่งใบไม่ให้แตกยอดซ้ำซ้อน กดไม่ให้มะนาวมันแทงยอดอ่อนและเพิ่มโอกาสให้ยอดอ่อนเดิมมีโอกาสเติบโตถึง 90 วัน 

โดยใช้การพ่นทางใบหลังจากตัดไปแล้ว 15 วัน โดยนำสารพาโคลบิวทราโซลผสมน้ำในปริมาณ 400 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ส่วนสารที่ขายในตลาดจะมีความเข้มข้นของสารที่ 80% คือ สัดส่วนการผสมสารที่ 80 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ (ประมาณ 20 ลิตร) แลพ่นซ้ำอีกครั้งที่ 2 หลังจากตัดยอดไป 60 วัน ในสารที่มีความเข้มข้นเท่ากันโดยจะใช้พ่นทางใบแค่พอเปียก ไม่ให้น้ำไหลทิ้งเท่านั้น 

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า วิธีการใช้สารพาโคลบิวทราโซลราดบริเวณรอบโคนต้นมะนาวนั้นส่งผลให้มะนาวทรุดโทรมหรือตายได้ จึงได้ใช้วิธีการพ่นสารพาโคลบิวทราโซลให้ต้นมะนาวทางใบแทน

การออกดอกของมะนาวนั้น จะต้องผ่านช่วงแล้งก่อน แต่ในช่วงเดือนตุลาคมไม่มีช่วงแล้ง เราต้องงดให้น้ำต้นมะนาว หากเป็นสวนแบบยกร่องให้ระบายน้ำก่อนมะนาวออกดอก  หรือหากเป็นส่วนแบบไร่ ในเวลาปลูกให้ขึ้นลูกฟูกจะช่วยระบายน้ำได้ดีขึ้น ซึ่งระยะเวลาต้องขึ้นอยู่กับดิน หากเป็นดินทรายจะมีเปอร์เซนต์ของระยะเวลาการออกดอกที่แม่นยำกว่าดินชนิดอื่น

ดินทรายคือตัวเลือกสำหรับมะนาว

อาจารย์รวีกล่าวว่า ในอดีตการปลูกพืชจะไม่ใช้ดินทรายเนื่องจากมีธาตุอาหารต่ำ และไม่มีปุ๋ย จึงต้องเลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงมากกว่า แต่ปัจจุบันตรงกันข้าม เรามีทฤษฎีใหม่ เพราะเรามีเทคโนโลยีการให้ปุ๋ย โดยการปลูกไม้ผล 

พื้นที่นั้นต้องระบายน้ำดี ดินทรายจึงเป็นตัวเลือกสำคัญที่จะบังคับต้นไม้ได้ง่ายกว่าดินอื่น หากเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง เมื่อเราไม่อยากให้มันดูดธาตุอาหารขึ้นมา แต่มันก็ดูดขึ้นมาตลอด แต่ถ้าเป็นดินทราย เราให้ตัวไหน มันก็รับเท่าที่เราให้ พอเราหยุดให้ปุ๋ยต้นไม้กหยุดกินไปด้วย นั่นเป็นการบังคับพฤติกรรมต้นไม้ได้แม่นยำที่สุด

การจะทำสวน ต้นไม้ทุกคนต้องเหมือนทหารเกณฑ์ ต้องมีระเบียบวินัย เราเป็น ผบ. ต้องสั่งต้นไม้ทุกต้นได้ ถ้าดินอุดมสมบูรณ์เราจะสั่งต้นไม้ไม่ได้ ฉะนั้น ไม้ผลทุกอย่าง ถ้าจะบังคับนอกฤดูและบังคับให้ต้นออกดอก ดินทรายจะให้ประสิทธิผลสูง และมีความแม่นยำในเรื่องเวลา มากกว่าดินชนิดอื่น เราจะสั่งต้นไม้ได้แม่นยำกว่า

ฤดูกาลผลิตมะนาว

ในรอบ 1 ปี ต้นมันาวที่ออกตามฤดูกาลนั้น สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรก (วงจรที่ 2) ต้นมะนาวจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม กันยายน ผลมะนาวที่นำมาใช้ประโยชน์จากน้ำคั้นได้นับตั้งแต่ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่าง 4 เดือนครึ่งถึง 5 เดือนครึ่ง ต้นมะนาวมีดอกชุดสุดท้ายประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลปกติ

จากนั้น มะนาวจะมีดอกที่เป็นชุดใหญ่อีกครั้ง (วงจรที่ 1) ประมาณปลายเดือนมีนาคมและเมษายน เมื่อผ่านช่วงของฤดูแล้งและได้รับฝนติดตามมา การเก็บเกี่ยวของมะนาวในรุ่นนี้จะตรงกับช่วงเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคม และมีการออกดอกมากอีกครั้ง ในช่วงในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน แล้วเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนธันวาคมและมกราคม อันเป็นช่วงปลายของฤดูมะนาว และราคาของมะนาวจึงเริ่มขยับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป 

ดังนั้น หากชาวสวนต้องการการผลิตให้มะนาวออกนอกฤดูได้ ต้องหากรรมวิธีในการหลีกเลี่ยงหรือสร้างจุดเหลื่อม หรือใช้วิธีการยับยั้งช่วงวงจรของการออกดอกครั้งใหญ่ทั้งสองนี้ให้ได้

ตารางการทำมะนาว นอกฤดู

แนะสูตรปุ๋ยเน้น N และ K  ควบคู่ปุ๋ยอินทรีย์

สายพันธุ์ที่เหมาะในการปลูกเพื่อผลิตมะนาวนอกฤดูที่อาจารย์รวีแนะนำคือ พันธุ์แป้นรำไพ 

เพราะลูกดก ลูกใหญ่ น้ำเยอะ รวมทั้ง กิ่งพันธุ์ที่ใช้นั้น ไม่ว่าจะใช้ต้นตอน ต้นทาบกิ่ง หรือกิ่งชำ เกษตรกรสามารถใช้ได้หมด แต่ถ้าไม่มีความจำเป็น ไม่ควรใช้ต้นตอ (เราจะใช้เลือกใช้กิ่งพันธุ์ที่ใช้ต้นตอเฉพาะในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับดิน เช่น ดินเค็ม ไส้เดือนฝอย ) เพราะมะนาวนั้นสำคัญอยู่ที่การดูแล

เทคนิคเล็กๆ ในการเตรียมกิ่งชำที่ชาวสวนมักมองข้ามคือ การใช้มีดที่มีความคมตัดเฉือนกิ่งพันธุ์แทนการใช้กรรไกรตัดกิ่ง ทั้งนี้ กรรไกรจะมีด้านใหญ่ที่คม และด้านเล็กจะไม่มีความคม ซึ่งจะไปบีบโคนรากทำให้มันช้ำไปซีกหนึ่ง ส่งผลให้เวลาออกรากก็จะออกข้างเดียว ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์การงอกของรากต่ำด้วย หรือถ้าใช้กรรไกรเมื่อตัดเสร็จให้ใช้มีดตัดรอยช้ำตรงนั้นออก รอยหน้าตัดต้องไม่มีส่วนช้ำอยู่ ทำให้เปอร์เซ็นต์กิ่งรอดตายจะสูง จากนั้นกรีดตามยาวของราก 3 รอย จากโคนขึ้นมาประมาณ 1 – 1½ นิ้ว เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่การออกรากรอบๆ